5 กุมภาพันธ์ 2568 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ในฐานะกรรมการโครงการกองทุนการศึกษา ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านวังเลียง อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อติดตามการดำเนินงานโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา โดยมีนายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พลตรี สุชาติ พุ่มสุวรรณ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 35 นายสามารถ อินทปัญญา นายอำเภอลอง นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) คณะครู และหน่วยราชการ ให้การต้อนรับ
ในการนี้ รับฟังการดำเนินงานของโรงเรียนบ้านวังเลียง ตำบลทุ่งแล้ง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เป็นโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา รุ่นที่ 4 ในปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียน 127 คน ครูและบุคลากร 20 คน โรงเรียนฯ มุ่งเน้นให้เด็กได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สำเร็จการศึกษาอย่างมีมาตรฐาน และพัฒนาผู้เรียนให้ “เรียนดี มีความสุข” ควบคู่กับการปลูกฝังวินัย คุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพของนักเรียน โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความรู้และประสบการณ์จริง เช่น กิจกรรมบริษัทสร้างการดี ผลิตภัณฑ์หม่อน การเลี้ยงสุกรขุน การเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถดูแลตนเองได้ มีสุขภาวะที่ดี และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ
โอกาสนี้ นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) ได้กล่าวรายงานการดำเนินโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ของโรงเรียนบ้านวังเลียงแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่สนับสนุนให้โรงเรียนสามารถจัดหาอาหารที่เพียงพอ ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโรงเรียนที่มีคุณภาพ ตามหลัก 3 เสาหลัก 5 กลยุทธ์ ด้านการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้มุ่งขยายโอกาสให้โรงเรียนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีนที่เพียงพอ
เพื่อให้นักเรียนมีโภชนาการที่เหมาะสม อันเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างแข็งแรงและพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมแล้วกว่า 988 แห่งทั่วประเทศ นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่จากโครงการกว่า 223,000 คน และบุคลากรทางการศึกษาอีกกว่า 16,500 คน ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดหาอาหารกลางวันจากไข่ไก่ ที่สดใหม่ มีคุณภาพ ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งโครงการฯ ไม่เพียงมุ่งเน้นการจัดหาอาหารกลางวันเท่านั้น แต่ยังเป็นสื่อการเรียนรู้พัฒนาทักษะอาชีพด้านเกษตร ผ่านการเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ การบริหารจัดการฟาร์มขนาดเล็ก และการนำผลผลิตไข่ไก่มาจำหน่ายให้แก่ชุมชนในราคาที่เหมาะสม ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่ไข่เพื่อใช้บริโภคภายในโรงเรียนเพื่อสร้างรายได้หมุนเวียนกลับคืนสู่โรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน (Social Enterprise)