นักบริบาล…อีกหนึ่งอาชีพทางเลือก และพลังเสริมก้าวข้าม Covid-19

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อจากผู้ที่ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการได้โดยหากมีการติดเชื้อในผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรงรวมถึงผู้สูงอายุจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปเนื่องด้วยสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงภูมิคุ้มกันลดลงตามวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น

ในขณะที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงรวมทั้งผู้สูงอายุ เก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุดเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้ออย่างไรก็ตามยังมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ยังต้องการการดูแลจากญาติหรือผู้ดูแล
ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตัวเอง การหาซื้อเครื่องอุปโภคบริโภครวมถึงการเข้ารับบริการทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งผู้สูงอายุบางรายอยู่ลำพังไม่มีลูกหลานดูแล จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้นึกถึงงานด้านการบริบาลดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนักบริบาลอาชีพและนักบริบาลชุมชนจิตอาสาดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีความสำคัญในการที่จะให้ความช่วยเหลือ ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังโดยเฉพาะผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรกนักบริบาลจึงเป็นอีกหนึ่งพลังเสริม ที่จะทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
เพื่อก้าวข้ามในภาวะการระบาดของโควิด-19 และเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกที่จะรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบของประเทศไทยอีกด้วยการเตรียมความพร้อมและรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของไทย

ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ,กรมผู้สูงอายุ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบว่า มีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จำนวน 11,136,059 คน (16.73%) ของจำนวนประชากรประเทศไทยทั้งสิ้น 66.5 ล้านคน โดยจังหวัดที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,063,871 คน (9.5%) ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2583 ประเทศไทยจะมีประชากรลดลง แต่มีโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงอย่างมาก คือ มีประชากรวัยทำงาน (15-59 ปี) ร้อยละ 55.1 ประชากรวัยเด็ก (แรกเกิด-14 ปี) ร้อยละ 12.8 และมีประชากรผู้สูงอายุ (60ปีขึ้นไป) สูงถึงร้อยละ 32.1 ทั้งนี้เนื่องจากการมีอัตราการเกิดที่น้อยลงและการพัฒนาทางการแพทย์ที่ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น

ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มตามลักษณะสุขภาพและสังคมของผู้สูงอายุในประเทศไทย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มติดสังคม กลุ่มติดบ้าน และกลุ่มติดเตียง โดยสถิติผู้สูงวัยของประเทศไทย มีแนวโน้มเป็นผู้สูงวัยที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสม

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากกำลังคนด้านสุขภาพเพื่อรองรับการดูแลผู้สูงวัยระยะยาวผลการศึกษาพบว่า เมื่อปี 2557 หรือ 7 ปี ที่ผ่านมาการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาวต้องการกำลังคนด้านสุขภาพเพิ่มเติมจากการดูแลการเจ็บป่วยเฉียบพลัน คือ ต้องการแพทย์ประมาณ 2,042 คน พยาบาล จำนวน 58,841 คน นักกายภาพบำบัด จำนวน 3,649 คน ผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 412 คน

และผู้ช่วยผู้ดูแลหรือนักบริบาล 82,528 คน ในขณะที่ภาพรวมของประเทศไทยยังขาดแคลนกำลังคนที่เป็นทางการในระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อต้องเพิ่มความต้องการกำลังคน เพื่อรองรับการดูแลผู้สูงวัยระยะยาว จึงทำให้เกิดการขาดแคลนกำลังคนที่เป็นทางการมากยิ่งขึ้น (อ้างอิง ;https://www.journalggm.org/article_pdf-PA19026.pdf/) โดยเฉพาะในส่วนของผู้ช่วยดูแล หรือนักบริบาล ที่มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงได้อย่างเหมาะสม จากที่กล่าวมาข้างต้น มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งเลิกกิจการ ปลดพนักงาน/ลูกจ้าง และหลายครอบครัวได้รับผลกระทบกับการเลิกจ้างงานครั้งนี้มากขึ้น ส่งผลให้เยาวชนบางกลุ่มต้องหยุดเรียนเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของครอบครัว หรือเยาวชนบางกลุ่มประสบปัญหาว่างงานเนื่องจากนายจ้างเลิกจ้าง และมีแนวโน้มเกิดการว่างงานมากขึ้น “อาชีพนักบริบาล จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือก” สำหรับผู้ที่มองหาอาชีพที่มั่นคง เป็นที่ต้องการในปัจจุบันและอนาคต

ปี พ.ศ.2562 มูลนิธิฯ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาลขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนเป็นเลิศการบริบาล จังหวัดนนทบุรี และโรงเรียนอนันตรักษ์การบริบาล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริบาล ตามหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) ให้คำแนะนำเชิงวิชาการ เพื่อสร้างนักบริบาลที่มีความรู้
มีทักษะและมีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยตรง สามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมูลนิธิฯ ได้ร่วมคัดเลือกเยาวชน พร้อมสนับสนุนทุนฝึกอบรมตลอดหลักสูตร และติดตามดูแลผู้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ดำเนินโครงการมาแล้ว 5 รุ่น

มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวม 42 คน และอยู่ระหว่างการฝึกอบรม 2 รุ่น จำนวน 23 คนโดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรได้นำความรู้และประสบการณ์ไปทำงานดูแลสูงอายุในสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน มีรายได้มั่นคงสามารถเลี้ยงตัวเองและช่วยเหลือครอบครัวได้ และมีผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมส่วนหนึ่งเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุในชุมชนอีกด้วย

ซึ่งโดยพื้นฐานวัฒนธรรมคนไทย การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ถือเป็นหน้าที่และความกตัญญูที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แต่ละเคสของผู้สูงอายุ ก็มีความหนัก-เบาแตกต่างกัน และการดูแล เอาใจใส่ก็แตกต่างกันตามปัจจัยพื้นฐานของครอบครัว เช่น ความรู้ ประสบการณ์ ทุนทรัพย์ เป็นต้น การอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ 420 ชั่วโมง จึงมีความจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นนักบริบาลผู้สูงอายุที่ดีนั้น ต้องเริ่มต้นจากความสุขในหัวใจ เพราะเมื่อคนดูแลมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำแล้ว จะสามารถส่งต่อความสุขไปยังผู้สูงอายุที่อยู่ในการดูแลของตัวเองได้เป็นอย่างดี มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท หวังว่าโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล จะมีส่วนแก้ไขปัญหาด้านการขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตลอดจนการว่างงานในกลุ่มเยาวชนที่สนใจเพื่อเป็นอาชีพทางเลือกที่มีความต้องการในสังคมปัจจุบันและในอนาคตที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยแบบเต็มรูปแบบ

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น