มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จับมือกับหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุน “นวัตกรรม” ปั้นโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village)

ในยุคปัจจุบันที่มีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกหลากหลายด้าน จึงมักมี “นวัตกรรม” ใหม่ๆ เข้ามาใช้ทุกองค์กร สำหรับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ก็เป็นองค์กรภาคเอกชนหนึ่งที่แสวงหาเครือข่ายและความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชน ในการสรรหานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในชนบท ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กรและมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมสนับสนุนโครงการตามแนวพระราชดำริโดยใช้ “ศาสตร์พระราชา” โดยมีเป้าหมาย คนดี พลเมืองดี อาชีพดี และสิ่งแวดล้อมดี

จากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่ได้เชิญชวนให้วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ได้นำสนอความต้องการของชุมชนกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานวัตกรรมแห่งชาติ (มหาชน ) และองค์กรปกครองท้องถิ่น ในการพัฒนาหมู่บ้านในพื้นที่ชุมชนท่าเรือ โดยการดำเนินโครงการโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยปัจจุบันมีกิจกรรมทั้งสิ้น 9 โครงการ

คุณดาเรศ สุทธิรักษ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาและความต้องการแรกของชุมชนตำบลท่าเรือ จะเป็นเรื่องของการผลิตเครื่องดนตรีพื้นเมือง ที่เป็นอาชีพเสริมของชุมชน ซึ่งมีการมีการรวมกลุ่มกันประดิษฐ์เครื่องดนตรีที่เรียกว่า “แคน” โดยผลิตและจำหน่ายในรูปของวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างรายได้และชื่อเสียงให้แก่ชุมชน เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายแคนที่ดีที่สุดในประเทศไทย แต่วัสดุที่ใช้ จำเป็นต้องใช้ไผ่สำหรับทำแคน ซึ่งปลูกได้ในประเทศลาว ด้วยเหตุดังกล่าว การลดต้นทุนการผลิตจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้รับความร่วมมือจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ในการนำนวัตกรรม “ไผ่ท่าเรือ” ระบบไฮโดกริดสำหรับฟื้นฟูนิเวศป่าชุมชนเพื่อการปลูกป่าไผ่แคน มาช่วยสนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อลดการสั่งซื้อไผ่แคนจากประเทศลาว โดยนวัตกรรมนี้พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จากการสนับสนุนงบประมาณกว่า 2 แสนบาท จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA

ในครั้งหน้าพบกับนวัตกรรม “ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบโดมร่วมกับการแผ่งรังสีอินฟราเรดระยะไกลจากแผ่นเซรามิกสำหรับเครื่องดนตรีอีสาน” คุณดาเรศ กล่าวทิ้งท้าย

###

โดย : คุณดาเรศ สุทธิรักษ์