มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับภาคีเครือข่ายหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC-B) จัดประชุมแผนงานและความก้าวหน้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ปีที่ 22

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ กรรมการและเลขาธิการ คุณสุปรี เบ้าสิงห์สวย กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการ และคณะทีมงาน มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท รายงานความก้าวหน้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน พร้อมเสนอแผนการดำเนินงานความร่วมมือปีที่ 22 ต่อคณะกรรมการหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce Bangkok) หนึ่งในภาคีความร่วมมือที่ส่งมอบโอกาสการเข้าถึงความมั่นคงด้านอาหารผ่านโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ โดยผ่านการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting)

นายโนบูยูกิ อิชิอิ ประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยคณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ มีมติเห็นชอบอนุมัติโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิฯ จำนวน 5 โรงเรียน โดยให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1.5 ล้านบาท และเห็นชอบให้โรงเรียนบ้านบากัน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ปี 2564 จัดพิธีมอบโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ในวันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นปีที่ 22 ต่อไป

ทั้งนี้ หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (Japanese Chamber of Commerce Bangkok : JCC-B) เป็นหนึ่งภาคีที่ได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระชนพรรษา 72 พรรษา ในปี พ.ศ.2542 โดยลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กระทรวงศึกษาธิการ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เมื่อปีพ.ศ.2543 เพื่อส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีแก่เด็กนักเรียนและเยาวชนในชนบท

โดยหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรือน การติดตั้งอุปกรณ์การเลี้ยง พันธุ์สัตว์ อาหาร และวัคซีน ผ่านมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการโครงการและงบประมาณ คัดเลือกและติดตาม พร้อมกับประสานบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิควิชาการ ต่อมาในปีพ.ศ.2548 ได้ขยายผลการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อดำเนินการโครงการฯ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ปัจจุบันหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้ส่งผ่านความช่วยเหลือแก่เด็กและเยาวชนในชนบทแล้ว จำนวน 132 แห่งทั่วประเทศ มูลค่าการสนับสนุน 30.55 ล้านบาท

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น