มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ผนึกภาครัฐ-ชุมชน ร่วมกันปล่อย “กวางผา” สัตว์สงวนเพาะเลี้ยงคืนสู่ธรรมชาติ ในโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ

เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมปล่อยสัตว์ป่ากวางผาคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 4 ตัว หลังสามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้สำเร็จ โดยมี คุณมนตรี บัวเกตุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง เป็นประธาน พร้อมด้วย คุณชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันต์ ผู้จัดการสำนักปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท หน่วยงานภาครัฐ

อาทิ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เขตห้ามล่าสัตว์ป่านันทบุรี สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สถานีควบคุมไฟป่า หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้อมก๋อย องค์การบริหารส่วนตำบลม่อนจอง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตื่น โรงเรียนบ้านห้วยไม้หก และชุมชนบ้านห้วยไม้หก ร่วมกันปล่อยกวางผาเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรกวางผาและอนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์ในประเทศไทย พร้อมทั้งปลูกฝังเยาวชน และประชาชนบนพื้นที่สูงอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้อย่างสมดุล ณ ดอยหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย บ้านห้วยไม้หก ต.ม่อนจอง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

คุณชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันต์ ผู้จัดการสำนักปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า โครงการ “อมก๋อย โมเดล” เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อ.อมก๋อย ที่ถือว่าเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของ จ.เชียงใหม่ และมีความสำคัญต่อประเทศไทย ตามนโยบายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ 15 ซึ่งมูลนิธิฯ มียุทธศาสตร์และแผนงานในการฟื้นฟูป่า พร้อมกับการพัฒนาอาชีพชุมชนบนพื้นที่สูงให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญของสัตว์ป่า

โดยเฉพาะ “กวางผา” ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสัตว์สงวน 1 ใน 19 ชนิด ที่ใกล้สูญพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอมก๋อย โดยร่วมกับสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เข้าไปศึกษาในมิติต่างๆ อาทิ การเพาะพันธุ์กวางผา เพื่อแก้ปัญหาภาวะเลือดชิดโดยเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติให้ได้พันธุกรรมกวางผาที่แข็งแรง เพื่อยังคงเผ่าพันธุ์กวางผาในพื้นที่ได้ดำรงชีวิตต่อไปไม่สูญพันธุ์ไป รวมไปถึงการแบ่งเขตเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของกวางผา และการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมต่อการดำรงอยู่ของกวางผา นอกจากนี้ยังส่งเสริมและปลูกฝังให้ชุมชนร่วมอนุรักษ์ อยู่ร่วมกันได้โดยมีป่าไม้ที่สมบูรณ์ยั่งยืนควบคู่กันไปกวางผาไปพร้อมกัน

โดยในปัจจุบันมี “กวางผา” ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยได้รับการสนับสนุนการอนุบาลเลี้ยงดูจากมูลนิธิฯ ภายใต้แผนงานการอนุรักษ์สัตว์ป่า (กวางผา) จำนวน 82 ตัว ในปีนี้ มีแผนการปล่อยกวางผากลับคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 8 ตัว โดยกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการนำร่องปล่อยกวางผา จำนวน 4 ตัว คืนสู่ธรรมชาติ โดยมีการนำเทคโนโลยีกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) มาใช้ในการติดตามสังเกตพฤติกรรมสัตว์ และดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย เพื่อศึกษาวิถีการดำรงชีวิตและการอยู่รอดในธรรมชาติของกวางผาต่อไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น