มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) ต่อยอดภารกิจดับไฟป่า! ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย จัดอบรมบำรุงรักษาอุปกรณ์ เสริมเขี้ยวเล็บอาสาพิทักษ์ป่าอมก๋อย

เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ภายใต้โครงการอมก๋อยโมเดล ได้เดินหน้าสานต่อภารกิจสำคัญ โดยร่วมกับอำเภออมก๋อย และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดับไฟป่าและเครื่องเป่าใบไม้ โดยมีนายปรีชาพล พูลทวี นายอำเภออมก๋อย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอมรมฯ หลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้มอบกองทุนประกันและอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับอาสาสมัครในจังหวัดเชียงใหม่ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การอบรมฯ ในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 75 คน จัดขึ้น ณ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

คุณปรีชาพล พูลทวี นายอำเภออมก๋อย เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา อ.อมก๋อย ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกจับตามองในเรื่องหมอกควันไฟป่า และจุดความร้อน Hotspot เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ากว่า 1.3 ล้านไร่ และมีป่าหลายประเภท เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วันนี้มีซีพี ที่มามอบกองทุนประกันให้อาสาพิทักษ์ดับไฟป่า จ.เชียงใหม่ เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ภารกิจนี้มีความเสี่ยงและอันตรายมาก และเป็นอาสาในท้องถิ่น ไม่ใช่มืออาชีพ จึงมีการตรวจเช็คสุขภาพก่อนไปทำภารกิจอย่างสม่ำเสมอ มีการให้ความรู้ชาวบ้าน นอกจากนี้ยังช่วยกันทำแนวกันไฟ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของอาสาดับไฟป่า รวมถึงการตั้งจุดเฝ้าระวังและการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวัง วันนี้ปัญหาไฟป่าต้องช่วยกัน จึงต้องสร้างจิตสาธารณะให้กับชาวบ้าน และสร้างจิตสำนึกในการไม่ก่อไฟไม่เผาป่า

คุณชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันต์ ผู้จัดการสำนักปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ฝ่ายปฏิบัติการเพื่อสังคม มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เครือซีพี ได้มอบกองทุนประกันและอุปกรณ์ดับไฟป่าให้กับอาสาสมัครในจังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิฯ ภายใต้โครงการอมก๋อยโมเดล ซึ่งปฏิบัติงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่ ได้จัดงาน “อบรมเชิงปฏิบัติการการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดับไฟป่าและเครื่องเป่าใบไม้” ขึ้น เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจในการซ่อมบำรุงเบื้องต้น เพื่อยืดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ยังเล็งเห็นว่า การใช้งานอุปกรณ์ดับไฟป่าและเครื่องเป่าใบไม้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่สมบุกสมบัน อาจทำให้เกิดการสึกหรอและเสียหายได้ ภารกิจดับไฟป่าเป็นงานที่หนักและเสี่ยงภัยอย่างยิ่ง อุปกรณ์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ต้องมีประสิทธิภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของอาสาสมัครดับไฟป่า โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก แผนกวิชาช่างยนต์ โครงการพิเศษและบริการชุมชน วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ มาถ่ายทอดความรู้และฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ทางด้าน คุณดิษย์ฐาพัช วัชรรุ่งสกุลกิจ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ หนึ่งในเจ้าหน้าที่อาสาพิทักษ์ดับไฟป่า เปิดเผยว่า อ.อมก๋อย เป็นป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญกับชาวบ้าน เป็นแหล่งผลิตน้ำให้กับชาวบ้านทั้งการอยู่อาศัยและการทำกิน เมื่อเกิดไฟป่า ชาวบ้านทุกคนต้องช่วยกันดับไฟป่า เพราะไฟสามารถขยายลามไปยังแปลงเกษตรและท่อส่งน้ำได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวบ้าน เป็นวงกว้าง ทั้งเด็กๆ และผู้สูงอายุ ซึ่งช่วงหลังชาวบ้านมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจกันเป็นจำนวนมาก ในฐานะผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้นำชุมชน ก็อยากมีส่วนช่วยขับเคลื่อนตรงนี้ แล้วเราก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม คนภายนอกอาจจะมองว่าการดับไฟป่ามีความง่าย แต่จริงๆมีความเสี่ยงมาก เพราะเราไม่รู้ว่าแต่ละพื้นที่ไฟป่าเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูงชัน เป็นหุบเขา เกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ ซึ่งตอนนี้มีซีพีมาให้ประกันชีวิต ก็ทำให้อุ่นใจขึ้น เพราะทรัพยากรที่เขาดูแล ปกป้อง ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองและชุมชน แต่สามารถสร้างประโยชน์ให้คนทั้งโลกนี้ได้ครับ

การอบรมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายหน่วยงาน สะท้อนถึงความร่วมมือและความตั้งใจของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่, สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่, วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่, หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า, หน่วยป้องกันรักษาป่า, กองร้อยอาสารักษาดินแดน และกลุ่มอาสาสมัครดับไฟป่าในพื้นที่ รวมทั้งสิ้น 75 คน

โดยมีการบรรยายเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ดับไฟป่าและเครื่องเป่าใบไม้ การวิเคราะห์ปัญหาที่พบบ่อยและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลรักษาอุปกรณ์ การฝึกแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เช่น การเปลี่ยนหัวเทียนและการปรับแต่งคาร์บูเรเตอร์ การฝึกปฏิบัติการซ่อมบำรุงอุปกรณ์จริง ตั้งแต่การตรวจสอบสภาพทั่วไป การทำความสะอาด การเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สึกหรอ การตรวจสอบและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง รวมถึงการถอดและประกอบชิ้นส่วนต่างๆ โดยผลจากการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยสามารถซ่อมบำรุงเครื่องเป่าใบไม้ที่เข้าร่วมอบรมได้ถึง 15 เครื่อง จากทั้งหมด 17 เครื่อง ทำให้มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และภาคีเครือข่าย จะยังคงติดตามการใช้ประโยชน์และบำรุงรักษาอุปกรณ์ของอาสาสมัครพิทักษ์ป่าอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่อำเภออมก๋อยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับหน่วยงานปกครองอำเภออมก๋อย เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น