มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) จุดประกายพลังคนรุ่นใหม่ ร่วมใจอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลายั่งยืน ในงาน “ค่ายเยาวชนรักษ์เลสาบ”

เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมสุดสร้างสรรค์ “ค่ายเยาวชนรักษ์เลสาบ” ภายใต้โครงการทะเลสาบสงขลายั่งยืน CP Green Lagoon โดยได้รับเกียรติจาก นายอนุชา แก้วคงธรรม ปลัดอำเภอสิงหนคร เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายสมจิตร ยิ้มสุด รองปลัดเทศบาลเมืองเขารูปช้าง ร่วมกล่าวต้อนรับ และ นางสาว ชญานี บุญสน ผู้เชี่ยวชาญแผนงานดำเนินการยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลา ร่วมให้ข้อมูลและความสำคัญของโครงการ งานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 เมษายน 2568 เพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน ณ อ.สิงหนคร จ.สงขลา

นายอานนท์ ขำแก้ว ผู้ชำนาญการแผนงานดำเนินการยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลา มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า ความสำคัญของ “ค่ายเยาวชนรักษ์เลสาบ” คือ การสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนในพื้นที่ เป็นรากฐานสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืน และมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา นำองค์ความรู้จากหลากหลายมิติ ทั้งภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิธรรม ภูมิวงศ์ และภูมิปัญญา มาบูรณาการเพื่อพัฒนาระบบนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ คน เนื้อหา เทคโนโลยี ข้อมูล และการจัดการ การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและลงพื้นที่จริง จะช่วยให้เยาวชนได้สัมผัสและเข้าใจถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวฯ ยังเป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ดำเนินการโดย โครงการวิจัยย่อยที่ 1 “โครงการพัฒนารูปแบบและกลไกการจัดการทรัพยากรสัตว์นํ้าเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนของคนทุกช่วงวัย” ภายใต้ชุดโครงการวิจัยเรื่อง “ทะเลสาบสงขลา นิเวศสามน้ำการเรียนรู้เพื่อพัฒนาด้วยกลไกเมืองสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และยั่งยืน” ดำเนินการคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กิจกรรมครั้งนี้นำโดย ผศ.ดร.เตือนตา ร่าหมาน อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และ ทีมวิจัย

สำหรับกิจกรรมในค่ายฯ ได้แบ่งออกเป็นการเรียนรู้ตามบริบทของทะเลสาบสงขลาในแต่ละพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 จาก 5 โรงเรียนในเครือข่ายพื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ได้แก่ โรงเรียนพนางตุง, โรงเรียนปากพะยูนพิทยาคาร, โรงเรียนสิงหนครวิทยานุสรณ์, โรงเรียนมัธยมเกาะหมาก และโรงเรียนศาสนูปถัมภ์ฯ รวมทั้งคณะผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ นวัตกรชุมชน และผู้นำชุมชน รวมผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 79 คน

โดยกิจกรรมเริ่มต้นจากพื้นที่ทะเลสาบตอนล่าง ชุมชนบ้านใหม่ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เยาวชนได้เรียนรู้ระบบนิเวศทะเลสาบตอนล่างอย่างใกล้ชิด พร้อมร่วมกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ “ปูม้า” ระยะซูเอี๊ย จำนวนกว่า 900,000 ตัว เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และเรียนรู้ workshop การเพาะพันธุ์ต้นโกงกาง ซึ่งเป็นพืชสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ต่อมาในพื้นที่ทะเลสาบตอนกลาง ชุมชนบ้านกลาง อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนริมทะเลสาบตอนกลาง ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ระบบนิเวศ การ ระบายสีปลาบนไม้แกะสลัก ที่สะท้อนความหลากหลายของสัตว์น้ำในทะเลสาบ สนุกสนานกับ workshop ทำขนมหม้อฉี ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้าน และเยี่ยมชม “หลาดใต้ถุน” ตลาดชุมชนที่มีชีวิตชีวา และพื้นที่ทะเลสาบตอนบน ทะเลน้อย พนางตุงและลำบำ จ.พัทลุง เจาะลึกระบบนิเวศทะเลสาบตอนบน ผ่าน “ห้องเรียนปลาสามน้ำ” เรียนรู้ความหลากหลายของชนิดปลา ร่วมสนุกกับ workshop Pop rise ของกลุ่มนาริมเล ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ และปิดท้ายด้วยการ workshop สร้างบอร์ดเกม เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และแนวทางการอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาอย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรม “ค่ายเยาวชนรักษ์เลสาบ” จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีจิตสำนึกในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าของทะเลสาบสงขลา เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์นี้สู่คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืนต่อไป

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น