“พลิกวิกฤตเป็นโอกาส” สร้างอาชีพทางเลือกในโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล กับ 1 ในผู้ประสบความสำเร็จ หารายได้เลี้ยงครอบครัว

ย้อนไปเมื่อปี 2563 ที่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนประชาชน ทั้งในเรื่องของวิถีชีวิตในการเรียน การทำงาน ตลอดจนรายได้ ซึ่งองค์กรมากมายต้องรับภาระค่าใช้จ่าย จนมีมาตรการลดจำนวนพนักงาน จนถึงขั้นปิดกิจการไป ซึ่งทำให้ประชาชนมีอัตราว่างงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะน้อง ๆ ที่พึ่งเรียนจบก็หางานยากมากขึ้น ดังนั้น สำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาแล้ว ยิ่งมีความยากมากกว่า หากไม่มีใครหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษา เพื่อนำไปประกอบอาชีพ

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนให้เยาวชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเทียบเท่ากับเยาวชนเมือง จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังพบว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงกลายเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกที่สามารถพลิกวิกฤต เป็นโอกาสได้เป็นอย่างดี

น้องมุก หรือ นางสาวจิรัชยา เหลาฉลาด อายุ 21 ปี หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล รุ่นที่ 2/2563 ของโรงเรียนเป็นเลิศการบริบาล ที่ปัจจุบันประกอบอาชีพพนักงานประจำ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Living Well จ.นนทบุรี ซึ่งเป็น 1 ในเยาวชนที่สำเร็จการศึกษา และสามารถประกอบอาชีพนักบริบาล เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนชีวิตตนเองไปในทางที่ดีขึ้น

มาร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร? :
“ได้ยินว่ามีโครงการนี้มาจากอาจารย์ที่สอนนักบริบาล เลยคิดว่าเป็นโอกาสดีที่มีทุนการศึกษาให้เรียนจนจบ และยังได้เรียนครอบคลุมความรู้ทุกด้าน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ให้เราได้ลองฝึกจริง จนสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ”

ความคาดหวังจากการร่วมโครงการ? :
“การที่มาร่วมโครงการพัฒนาอาชีพด้านการบริบาล ก็หวังว่าถ้าเรียนจบมาจะมีงานดีๆที่มั่นคง และมีรายได้ต่อเดือนที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เนื่องจากครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกร มีรายได้น้อย จึงอยากมีส่วนช่วยหารายได้เพื่อเจือจุนครอบครัวให้พอกินพอใช้ ไม่ลำบาก”

ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากโครงการ? :
“การเรียนในโครงการนี้ มีหลักสูตรที่ครอบคลุมที่ใช้ได้จริงในการทำงาน โดยทักษะที่ใช้บ่อยๆ จะมีวิธีการพลิกตัวไป-มาให้ผู้สูงอายุไม่เป็นแผลกดทับ วิธีการรองรับอารมณ์ของผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งจะมีอารมณ์ที่ไม่คงที่ และเป็นเคสที่พบเป็นจำนวนมาก และการทำแผลให้กับผู้สูงอายุในทุกๆวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ได้ความรู้มาจากโครงการทั้งสิ้น”

ประโยชน์ของอาชีพนักบริบาล? :
“นอกจากมีรายได้ที่มั่นคงแล้ว ยังทำให้มีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เหมือนเป็นอาชีพที่สามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ โดยเฉพาะระยะหลังที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น อาชีพนี้จึงเป็นกำลังสำคัญในการรับมือได้อีกด้วย”

ความเปลี่ยนแปลงในชีวิต ภายหลังเข้าร่วมโครงการ? :
“แน่นอนว่าต้องเป็นเรื่องของการมีงานทำที่มั่นคง มีรายได้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวดีขึ้น มีเงินส่งไปให้ครอบครัวที่ต่างจังหวัดได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีงานทำ ทำให้ขาดรายได้ พอเรียนจบได้เข้าไปทำงานในโรงพยาบาล เป็นวิสัญญี ภายในห้องผ่าตัด ซึ่งความรู้ที่ได้จากโครงการสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่เพียงเฉพาะนักบริบาลเท่านั้น โดยมีหน้าที่หลัก คือ การช่วยระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด และช่วยลดความกังวลของผู้ป่วย โดยจะดูแลผู้ป่วยเริ่มตั้งแต่เตรียมความพร้อมก่อนผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด คอยสังเกต ติดตาม รายงานผลผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด รวมไปถึงดูแลผู้ป่วยจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นหลังจากการผ่าตัดอย่างปลอดภัย โดยในปัจจุบันได้มาทำงานประจำศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ Living Well จ.นนทบุรี เพื่อดูแลเฉพาะผู้สูงอายุ”

เป้าหมายต่อไปในอนาคต? :
“อยากต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการ โดยเรียนต่อเป็นผู้ช่วยพยาบาล หรือเป็นพยาบาลเต็มตัว เพื่อให้มีทักษะความรู้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในการดูแลผู้ป่วย และ/หรือผู้สูงอายุ ตลอดจนเพิ่มโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต”