รู้ทันปัญหาการขาด “ครอบครัว” ที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ชี้ความจำเป็นของโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม

“เด็ก หรือ เยาวชน” ถือได้ว่าเป็นอนาคตของชาติ การเลี้ยงดูเพื่อปลูกฝังเด็กๆ นั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถขัดเกลาให้เติบโตมาเป็นกำลังพลที่ดีและมีคุณภาพของประเทศ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับเด็กคือ “ครอบครัว” ซึ่งเปรียบเสมือนเตาที่หล่อหลอมเด็กๆ ที่สำคัญที่สุด แต่น่าเศร้าที่มีเด็กส่วนหนึ่งที่ขาดครอบครัวจากการถูกทิ้ง มีปัญหาครอบครัวแตกแยก ครอบครัวทำร้ายร่างกาย หรือติดยาเสพติด ฯลฯ ทำให้เด็กเหล่านั้นต้องเติบโตในสถานสงเคราะห์ที่ขาดความอบอุ่นจากครอบครัว ซึ่งปัญหาครอบครัวต่างๆ สามารถส่งผลกระทบต่อเด็กได้ 4 ปัจจัย ได้แก่

1. ผลกระทบทางด้านความคิดของเด็ก ในวัยเด็กมักจะมีการจดจำสิ่งต่างๆจากสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เห็นนั้นดีหรือไม่ดี ดังนั้นเด็กกำพร้าจึงขาดครอบครัว ในการช่วยชี้นำสิ่งต่างๆ

2. ผลกระทบทางด้านความรู้สึก เมื่อเด็กกำพร้าพบเจอเด็กที่มีครอบครัวคนอื่น จะทำให้เกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ รู้สึกด้อยคุณค่าในตัวเอง เกิดปมในใจ บางครั้งเมื่อไปโรงเรียนอาจจะถูกเพื่อนล้อเลียนปมนั้น ทำให้เด็กมีปัญหาทางด้านจิตใจในระยะยาวได้

3. ผลกระทบทางด้านพฤติกรรม หลังจากมีความรู้สึกต่างๆ ก็จะถูกแปรเปลี่ยนออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จากการขาดการอบรม ขาดความรักจากครอบครัว

4. เรียนรู้สิ่งที่ไม่ดีแล้วนำไปใช้ เมื่อถูกบ่มเพาะมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เมื่อเด็กๆได้เรียนรู้และซึมซับเข้าไปมากๆ โดยขาดการสั่งสอน ขาดการชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องจากครอบครัว เด็กก็จะนำสิ่งไม่ดีเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของเขาเอง อาจทำให้กลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในที่สุด

ดังนั้น มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จึงได้มีโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมาย ให้เด็กๆ กำพร้าเหล่านั้น มีครอบครัวอุปการะที่อบอุ่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อยู่ในชุมชนที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม เพื่อพัฒนา หล่อหลอม อบรมบ่มนิสัยให้เด็ก ๆ ให้เจริญเติบโตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยมีครอบครัวจิตอาสาที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการฯ ที่มีความเหมาะสมกับน้องๆแต่ละบุคคลคน

โดยดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2545 ที่ จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯ รับเด็กมาดูแล รวม 298 คน สามารถกลับคืนสู่ครอบครัวเดิมได้ 211 คน กลับสถานสงเคราะห์ 10 คน ส่งมอบสู่ครอบครัวบุญธรรมในไทยและต่างประเทศ 49 คน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้แล้ว 4 คน และอยู่ในความดูแลของโครงการ 65 คน ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 มูลนิธิฯ มีเป้าหมายรับเด็กเพิ่มอีก 35 คน เพื่อให้มีเด็กกำพร้าในความดูแลของโครงการครบ 100 คน/ปี

ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบด้านต่าง ๆ ของเด็กได้เป็นอย่างดี การที่เด็กมีครอบครัวอุปการะคอยอบรมสั่งสอน สร้างกระบวนการทางความคิดและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก จะช่วยให้เด็กกำพร้าเกิดกระบวนการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ได้รับการปลูกฝัง และมีค่านิยมทางความคิดที่ดี ได้รับความรักและความอบอุ่นอย่างเต็มที่ ครอบครัวอุปการะเปรียบเสมือนครอบครัวทดแทนของเด็ก ๆ ช่วยเติมเต็มและเยียวยาจิตใจให้กับเด็ก ๆโดยดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. จัดหาครอบครัวอุปการะให้กับเด็กกำพร้า ถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบด้านต่าง ๆ ของเด็กได้เป็นอย่างดี การที่เด็กมีครอบครัวอุปการะคอยอบรมสั่งสอน สร้างกระบวนการทางความคิดและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก จะช่วยให้เด็กกำพร้าเกิดกระบวนการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ได้รับการปลูกฝัง และมีค่านิยมทางความคิดที่ดี ได้รับความรักและความอบอุ่นอย่างเต็มที่ ครอบครัวอุปการะเปรียบเสมือนครอบครัวทดแทนของเด็ก ๆ ช่วยเติมเต็มและเยียวยาจิตใจให้กับเด็กๆ

2. จัดกิจกรรม เพื่อสร้างกระบวนการทางความคิดให้กับเด็ก ๆ เช่น กิจกรรมค่ายเรียนรู้ ค่ายฝึกทักษะชีวิต ค่ายจิตอาสา เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีโลกทัศน์กว้างมากขึ้น รู้จักตัวตน และรู้จักวางแผนการดำเนินชีวิต โดยนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน การทำกิจกรรมผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น ข่าวสาร นิทาน เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์และแยกแยะสิ่งที่ถูกผิด ใช้ชีวิตอย่างถูกต้องเหมาะสม จัดกระบวนการกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุย สอบถามความคิดและความรู้สึกเด็กๆ ในประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้น เพื่อให้เด็กรู้คิดและทันเหตุการณ์ จัดกิจกรรมเยี่ยมบ้าน Case by Case เพื่อติดตามเด็กและครอบครัวอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจและให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาชีวิตในกรณีเด็กที่มีปัญหาในด้านต่างๆ

3. ส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถและตัวตนของเด็กให้แสดงออกอย่างถูกวิธี ส่งเสริมให้เด็กใช้ความสามารถที่เหมาะสมในเวทีสาธารณะ/ในชุมชน สนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างเด็กกำพร้า และ เด็กในชุมชน เพื่อสร้างความมั่นใจและการยอมรับให้กับเด็ก ไม่ทำให้เด็กรู้สึกแปลกแยก หรือรู้สึกตัวเองไม่มีค่า

4. ส่งเสริมด้านการศึกษา และปลูกฝังค่านิยมเรื่องการเรียนให้กับเด็กๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ดี ไม่อ่อนไหวไปกับค่านิยมและแรงจูงใจที่ผิดๆ แนะแนวการศึกษาและอาชีพให้กับเด็กที่อยู่ในระดับมัธยมหรืออุดมศึกษา และติดตามผลการเรียนของเด็กๆ อย่างใกล้ชิด ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนพิเศษจากสถาบันกวดวิชา หรือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทำการสอน

5. ประเมินด้านจิตวิทยากับเด็กในแต่ละด้าน โดยนักจิตวิทยา หรือ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้ทราบระดับความคิด ความรู้สึก สติปัญญา และปัญหาของเด็กได้อย่างทันถ่วงที หากเด็กมีปัญหาในด้านใด เจ้าหน้าที่และครอบครัวจะปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขกันต่อไป

ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มุ่งหวังว่าโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม จะช่วยให้เด็กกำพร้า ได้มีครอบครัวที่ดี มีความรัก ความอบอุ่น และเป็นที่พึ่งพิงใจให้กับเด็กๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เติบโตมาได้อย่างเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

 

######

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น