“มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท” ขับเคลื่อนแผน ปี 65 มุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน – พัฒนาคุณภาพชีวิต – สร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้านเกษตร

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สานต่อปณิธานตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาท ตลอด 33 ปีของการดำเนินงาน พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนงาน 4 ด้านหลัก พัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ขจัดความยากจน ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมาย “สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี ชุมชนสิ่งแวดล้อมดี” ร่วมร้อยเรียงความดี ในวาระ 100 ปี เครือเจริญโภคภัณฑ์ และหนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ ผู้ช่วยบริหาร สำนักประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยตลอด 33 ปีที่ผ่านมา ได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ จะมุ่งเน้นสร้าง 4 ดี พัฒนา 4 ด้านหลัก คือ ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ด้านขจัดความยากจน ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย ด้านรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้เป้าหมาย “สร้างคนดี พลเมืองดี อาชีพดี และชุมชนสิ่งแวดล้อมดี ”

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงาน มูลนิธิฯ มุ่งมั่นตอบแทนคุณแผ่นดิน ตามรอยใต้เบื้องพระยุคลบาท ซึ่งจะเป็นแนวทางของการดำเนินงานในปีนี้ ที่มุ่งเน้น 4 ด้านหลัก สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปีนี้เครือซีพีจัดกิจกรรมร้อยเรียงความดี ในโอกาสดำเนินงานสู่ปีที่ 100 จึงถือโอกาสเชิญชวนร่วมกันทำความดี และมีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการต่างๆ ของมูลนิธิฯ ” นายจอมกิตติ กล่าว

สำหรับผลการดำเนินโครงการและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลเชิงบวกทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และเกษตรกรในชนบท โดยในปีนี้ มูลนิธิฯ มีแผนสานต่อโครงการที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเข้าถึงโภชนาการอาหาร สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำรุ่นใหม่

นายจอมกิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการด้านเด็กและเยาวชนที่จะดำเนินการปีนี้ อาทิ โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ส่งเสริมเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล แก้ปัญหาทุพโภชนาการ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 905 โรงเรียน นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่อย่างน้อยคนละ 3 ฟอง/สัปดาห์ หรือคนละ 120 ฟอง/ปี นอกจากนี้ยังตั้งเป้านำร่องโรงเรียนตัวอย่างมุ่งสู่การบริหารจัดการในรูปแบบ Social Enterprise อีกด้วย สำหรับโครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกับเยาวชนในเมืองและมีศักยภาพในการกลับไปพัฒนาชุมชนตนเอง โดยในปัจจุบันมีเยาวชนในโครงการ 203 คน และประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาและประกอบสัมมาชีพ สำหรับโครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่มีใจรักด้านการเกษตร อีกทั้งเป็นต้นแบบศูนย์ส่งเสริมและสาธิตการพัฒนาเกษตร 4.0 เพื่อเป็นศูนย์สาธิต ถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลสู่เกษตรกร รวมถึงฝึกทักษะงานเกษตรแก่เยาวชน เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป และโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม ที่ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวที่เป็นพื้นฐานสำคัญของเด็กที่จะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ จากการดำเนินงานกว่า 19 ปี มีเด็กอุปการะร่วมโครงการ รวม 346 คน เกิดผลลัพท์เด็กๆ ได้มีครอบครัว ได้รับความรักและความอบอุ่น เกิดการร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดี เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ดีให้สังคม เติมส่วมที่ขาดคือครอบครัว

ในด้านการขจัดปัญหาความยากจน ได้มีโครงการศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรที่สามารถขยายผลสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกร ยกตัวอย่าง โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ตามพระราชประสงค์ 7 แห่ง เพื่อพัฒนาระบบการทำงานของสหกรณ์ พัฒนาผู้นำสหกรณ์ ส่งเสริมอาชีพสมาชิก และพัฒนาเยาวชนลูกหลานรักษ์สหกรณ์ โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่ราษฎรในโครงการฯ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เท่า ภายใต้แนวคิด “บวร” โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกร โดยส่งเสริมอาชีพหลากหลาย เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพตามความพร้อม มีรายได้หมุนเวียนตลอดปี โครงการพัฒนาอาชีพตำบลปากรอ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เพื่อขับเคลื่อนการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ส่งเสริมการออม โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ควบคู่กับการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการขับเคลื่อนงานยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีจากเดิม 12,300 บาท เป็น 44,000 บาท ร่วมกับภาคีเครือข่าย และโครงการการตลาดร้านค้าชุมชน / E Commerce เพื่อพัฒนายกระดับศักยภาพร้านค้าชุมชนในชนบท ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนให้ความรู้ การจัดการร้านค้า และแนวทางธุรกิจขายยุคใหม่ พร้อมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการนำสินค้ามาขายด้วยช่องทางบน Platform ต่างๆ มีร้านค้าชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 800 ร้านค้า

สำหรับด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย มีโครงการศูนย์เรียนรู้สุขภาพผู้สูงวัย เพื่อผู้สูงอายุและผู้ดูแลมีความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ดำรงชีวิตมีสุขภาวะที่ดี ตลอดจนเกิดวิสาหกิจชุมชน และโครงการซีพีคืนสุขผู้สูงวัยในชนบทห่างไกล เพื่อยกย่องและกตัญญูต่อผู้สูงอายุ บรรเทาความทุกข์ยากของผู้สูงอายุที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ พัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีความเอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือคนชุมชนด้วยกัน โดยมอบเงินดำรงชีพผู้สูงอายุ 20 ราย รายละ 2,000 บาท/เดือน โดยนำร่องพื้นที่จังหวัดนครพนม และพื้นที่จังหวัดเชียงราย

และด้านรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ได้แก่ โครงการปลูกป่า “อมก๋อย โมเดล” ภายใต้แนวคิด “อมก๋อยโมเดล สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ” ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำในอำเภอ อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ 10,000 ไร่ สร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน และสร้างชุมชนเข้มแข็ง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน./