มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดอบรมพัฒนาศักยภาพพ่อแม่ครอบครัวอุปการะ จ.บุรีรัมย์ เพื่อการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จัดอบรมในหัวข้อ “เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องพัฒนาศักยภาพผู้เลี้ยงดู” เพื่อเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม นำไปสู่การปฎิบัติและการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ ณ บ้านสวนฟรุ๊ตการ์เด้นส์ อำเภอลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ มีพ่อแม่อุปการะฯ เข้าร่วมการอบรม จำนวน 31 คน โดยได้รับเกียรติจาก คุณวราลักษณ์ วงศ์กา ผู้จัดการฝ่ายฝึกอบรม และ คุณประภัสสร แสนมหายักษ์ เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม มูลนิธิแคร์ฟอร์ชิลเดรน เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ครอบครัวอุปการะฯ

โดยการอบรมหัวข้อ “เติบโตอย่างมีคุณภาพ ต้องพัฒนาศักยภาพผู้เลี้ยงดู” ได้มุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่พ่อแม่อุปการะด้านต่าง ๆ ในด้านการเข้าใจเด็ก (ความทุกข์ยาก, บาดแผลทางใจ, ความเข้มแข็ง) ด้านการพัฒนาการเด็ก ทำความเข้าใจพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ด้านSecure Base สร้างความเข้าใจวิธีการเลี้ยงดูเด็ก ช่วยสร้างให้เกิดความผูกพันระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ด้านการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวในการดูแลเด็ก สร้างความเข้าใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก เมื่อย้ายเข้ามาอยู่ในการดูแลของครอบครัวอุปการะ ด้านการให้เด็กอยู่ในความปลอดภัย เพื่อแนะนำวิธีการเลี้ยงดูเด็กโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ

การอบรมพัฒนาศักยภาพครอบครัวอุปการะ ถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญของโครงการฯ ในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย การแสดงออกถึงพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็ก ซึ่งมีผลต่อเนื่องจากประสบการณ์หรือบาดแผลในจิตใจที่ผ่านมาของเด็ก เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติและการเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพ ครอบครัวอุปการะฯ จึงต้องมีแนวทางในการปรับและแก้ไขพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ของเด็กอย่างถูกวิธี และสามารถเลี้ยงดูเด็กโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ

โดยบรรยากาศการอบรม นอกจากวิทยากรจะให้ความรู้ พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาการเลี้ยงดูเด็กของครอบครัวชาวไทยและต่างประเทศ ให้ครอบครัวได้ศึกษาและเปรียบเทียบแล้ว ยังเปิดให้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างครอบครัวที่มากด้วยประสบการณ์การเลี้ยงดูเด็กอุปการะและครอบครัวใหม่ที่เพิ่งรับเด็กในปีนี้ด้วย ทำให้ทุกครอบครัวที่เข้าร่วมการอบรมต่างรู้สึกได้รับพลังบวก และมุมมองในการเลี้ยงดูเด็กที่หลากหลาย เป็นแนวทางในการเลี้ยงดูเด็กอุปการะต่อไป