มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ส่งเสริมอาชีพและให้ความรู้พัฒนาอาชีพกลุ่มผู้เลี้ยงแพะเนื้อ โครงการหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพงตามพระราชดำริ “แผ่นดินของพ่อ”สู้โควิด

จากสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ทำให้ลูกหลานเกษตรกรในโครงการหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพงตามพระราชดำริ กลับมาอยู่บ้าน และประกอบอาชีพการเลี้ยงแพะเนื้อกันมากขึ้น มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท จึงได้พาผู้นำกลุ่มและสมาชิกผู้เลี้ยงแพะเนื้อ เข้าศึกษาดูงานการเลี้ยงแพะเนื้อพันธุ์บอร์ ฟาร์มซีพีปอแดง จังหวัดกบินทร์บุรี พร้อมมอบพ่อพันธุ์ จำนวน 7 ตัว เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ สายเลือดสูง 80-90% จำหน่ายเป็น พ่อ-แม่พันธุ์ และการผลิตเนื้อ ให้ตรงต่อความต้องการของตลาด

นายมนูญ เตี๋ยวศรีทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะเนื้อ กล่าวว่า ในกลุ่มมีสมาชิก 25 คน มีแพะรวมทั้งสิ้น 1,200 ตัว และมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ให้สมาชิกกู้ยืม ครั้งละ 5,000 บาท เพื่อนำมาพัฒนาอาชีพเลี้ยงแพะต่อไป เพราะการเลี้ยงแพะเนื้อ ใช้ต้นทุนต่ำ และเลี้ยงง่าย จะให้ลูกครั้งละ 2 ตัว ถ้าเลี้ยง 2 ปี จะได้ลูก 5 ตัวต่อ 1 แม่ และเริ่มขายเมื่อมีอายุได้ 3-7 เดือน โดยการชั่งขายทั้งตัว โดยส่วนใหญ่ขายให้กับเพื่อนบ้านต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด ไม่สามารถส่งออกได้ ทำให้ราคาแพะเนื้อต่ำลง จากเดิมปกติชั่งขายทั้งตัว ราคา 120 บาท/กก. เหลือ 80-100 บาท/กก. แต่ถ้าเป็นพ่อและแม่พันธุ์ที่สายเลือดสูง ขายตัวละ 6,000-8,000 บาท ถ้ารูปร่างสวย ตัวละ 10,000 บาท ทำให้ต้องหันกลับมามองเรื่องการพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อพึ่งพาตนเองได้

ดังนั้น มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับ บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จึงเข้าไปส่งเสริมอาชีพและให้ความรู้ด้านการพัฒนาอาชีพกลุ่มผู้เลี้ยงแพะเนื้อ ในโครงการหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพงตามพระราชดำริ “แผ่นดินของพ่อ” ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยร่วมกับ หน่วยงานปศุสัตว์ คอยให้ความรู้ เช่น การถ่ายพยาธิ การผลิตก้อนเกลือแร่ ตลอดจนเรื่องการจัดการตลาด มาตรฐานฟาร์ม เป็นต้น

Cr. นายภัทรภูมิ รอดพงษ์