มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ชูพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ สืบสานโครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ พัฒนาเกษตรกร พร้อมชูโมเดลครอบครัวอุปการะฯ สร้างต้นแบบสังคมที่เกื้อกูล

เมื่อเร็วๆ นี้ นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า “โครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ” ณ ต.บุโพธิ์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเป็นแบบอย่างที่ขยายผลได้ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรผสมผสานและเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง ในปีนี้ ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทำเกษตรผสมผสานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมอาชีพการปลูกพืชมูลค่าสูง อาทิ มะพร้าวน้ำหอม และด้านปศุสัตว์ รวมถึงการสร้างแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น พร้อมสร้างความเข้มแข็งด้านความร่วมมือในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่

ด้าน นางสาวกรวรรณ สอิ้งรัมย์ เกษตรกรบ้านบุโพธิ์ เล่าว่า “จากการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การทำเกษตรผสมสานมากว่า 5 ปี บนพื้นที่ 4 ไร่ ประกอบด้วย การปลูกมะพร้าวน้ำหอม สละอินโด โกโก้ และฝรั่งกิมจู ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวต่อเนื่อง มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ใช้พื้นที่ได้อย่างเป็นประโยน์และคุ้มค่ามากขึ้น มีความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติในถิ่นฐานบ้านเกิดและครอบครัวอย่างอบอุ่น โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฯ ที่เข้ามาส่งเสริมเกษตรกรบ้านบุโพธิ์ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำการเกษตร และประสบความสำเร็จได้เร็วมากยิ่งขึ้น”

นายจอมกิตติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่าในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ มูลนิธิฯ ยังดำเนินงานอีก 1 โครงการ คือ “โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม” ที่ อ.ลำปลายมาศ เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2545 เพื่อมุ่งหวังให้เด็กกำพร้าได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความอบอุ่นจากครอบครัวทดแทน ในสภาพแวดล้อมของชุมชนวัฒนธรรมภาคอีสาน ให้เด็กมีพัฒนาการสมวัย มีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ได้รับการศึกษาสูงสุดตามศักยภาพ และเป็นคนดีของสังคมต่อไป โครงการครอบครัวอุปการะฯ ดำเนินการมากว่า 21 ปี มีการขยายผลใน 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น และ จ.หนองคาย มีเด็กที่เข้ามาอยู่ในความดูแลของในโครงการฯ แล้วกว่า 361 คน ได้แก่ เด็กที่สามารถกลับสู่ครอบครัวเดิม เป็นบุตรบุญธรรมทั้งครอบครัวชาวไทยและต่างประเทศ จำนวน 269 คน อยู่ในระหว่างการดูแลของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท รวม 87 คน มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 2 – 22 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา – ปริญญาตรี และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีรวม 5 คน

ด้าน นายเขียน นราชรัมย์ หนึ่งในครอบครัวอุปการะ จ.บุรีรัมย์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2546 เล่าว่า “ผมกับภรรยาไม่มีลูกจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เริ่มรับอุปการะเด็กมาตั้งแต่รุ่นที่ 2 รวม 6 คน อยากเป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่ทำให้เด็กไทยได้อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น มีโอกาสเท่าเทียมกับคนอื่น และมีอนาคตที่สดใส ผมไม่เคยคาดหวังอะไรจากลูกเลย ขอแค่ให้เขามีชีวิตที่สุขสบาย อยู่ดีกินดี เห็นเขาเรียนดี ประพฤติดี ผมก็ดีใจและมีความสุขแล้ว”

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ยังคงมุ่งเน้นขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมไทย ตามแนวคิดมุ่งสร้าง “4 ดี พัฒนา 4 ด้าน” ได้แก่ คนดี พลเมืองดี อาชีพดี และสิ่งแวดล้อมดี สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ใน 3 มิติหลัก ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของประเทศไทยทั้ง 77 จังหวัด ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สังคม และการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน

###