นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะเดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านดอยผักกูด ต.แม่นาเติง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พลตรี สกนธ์ เพชรทอง ผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 3 นายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) คณะทำงาน และหน่วยราชการ ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
โครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านห้วยผักกูด จ.แม่ฮ่องสอน เกิดจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร บ้านเมืองแพม หมู่ที่ 5 ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2549 ทรงมีพระราชดำริกับที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ความว่า “ให้หาหมู่บ้านจัดตั้งขึ้นใหม่ระหว่างบ้านปางคาม ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า และหมู่บ้านปายสองแง่ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านในโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรและเพื่อประโยชน์ในด้านความมั่นคงของประเทศชาติ”
ซึ่งต่อมาได้ตั้งเป็นโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านดอยผักกูด อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ปัจจุบันมีราษฎรชาวไทยภูเขา อยู่อาศัย 23 ครัวเรือน ทั้งหมดประกอบอาชีพเกษตรกรรม เป็นชุมชนรักษาป่า คนและชุมชน พร้อมรองรับการพัฒนาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านนายจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท (ซีพี) เปิดเผยว่า มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท(ซีพี) ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานโครงการจัดตั้งหมู่บ้านยามชายแดนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 5 พื้นที่โครงการฯ ได้แก่ บ้านปางคอง ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านอาโจ้ ตำบลนาปู่ป้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านแม่ส่วยอู ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน บ้านมะโอโคะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และบ้านดอยผักกูด ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้ให้การสนับสนุนภายใต้ 3 แผนหลัก ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โดยในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิฯ ได้ร่วมสนับสนุนโรงผลิตน้ำดื่มสะอาดเพื่อการบริโภคและบริการในชุมชน รวมถึงกองทุนยารักษาโรคเพื่อให้ราษฎรเข้าถึงสาธารณูปโภคที่จำเป็น ขณะที่ด้านการส่งเสริมเกษตรมูลค่าสูง ได้สนับสนุนการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพองค์ความรู้ ส่งเสริมการปลูกพืช จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ แมคคาเดเมีย และกาแฟ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน