ยินดีกับความสำเร็จลูกอุปการะ ครอบครัวพ่อบุญเพ็ง – แม่วิลัย นาคสูงเนิน

โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ขอแสดงความยินดีกับ ครอบครัวพ่อบุญเพ็ง – แม่วิลัย นาคสูงเนิน ครอบครัวอุปการะกับการผู้ดูแลเด็กกำพร้า ของโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรมณ บ้านสระบัว ตำบลเมืองแฝก อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อลูกสาวอุปการะคนที่ 2 ได้รับรางวัลผลการเรียนดีเด่น หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาการโรงแรม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์

ครอบครัวพ่อบุญเพ็ง – แม่วิลัย นาคสูงเนิน เป็นครอบครัวเกษตรกร ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ 7 อาชีพ 7 รายได้ จากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท โดยได้รับการส่งเสริมอาชีพการปลูกส้มโอ การเลี้ยงไก่ไข่- ไก่พื้นเมือง

พ่อบุญเพ็ง ยังเป็นคณะกรรมการกลุ่มโค-กระบือ ของบ้านสระบัว และได้รับมอบวัวไปเลี้ยง จำนวน 1 ตัว และในปี 2548 ได้สมัครเข้าร่วมโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม (เด็กกำพร้า)เข้ามา โดยขอรับอุปการะเด็กหญิง 2 คน ซึ่งเป็นคู่พี่น้องคนแรกอายุ 6 ขวบ และ คนที่สองอายุ 4ขวบ ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าจากสหทัยมูลนิธิ

ทั้งพ่อบุญเพ็ง – แม่วิลัย สามารถเลี้ยงดูและดูแลเด็กทั้ง 2 คนได้เป็นอย่างดี โดยนำวิถีเกษตรมาเป็นแนวทางในการบ่มเพาะและเลี้ยงดู ซึ่งลูกสาวอุปการะคนเล็กที่กำลังจะจบการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาการโรงแรม วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ได้ซึมซับวิถีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี น้องมีทักษะในการเลี้ยงปลาเลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไก่ มาตั้งแต่เด็ก ชอบเข้าครัวทำอาหารกับแม่อุปการะ จนสามารถเป็นแม่ครัวหลักในการทำอาหารให้ทุกคนในครอบครัวได้รับประทาน สามารถแบ่งเบาภาระ และช่วยงานครอบครัวอุปการะอย่างขยันขันแข็ง สมกับเป็นเด็กที่เติบโตมากับครอบครัวเกษตรกรอย่างแท้จริง

และเมื่อวันที่ 11มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ทุกคนในครอบครัวมีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ลูกสาวคนเล็ก เรียนจบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.52 และยังเป็นคนเดียวในสาขาการโรงแรม ที่ได้รับใบประกาศนียบัตรนักเรียนดีเด่น อีกด้วย

ครอบครัวพ่อบุญเพ็ง – แม่วิลัย เป็นตัวอย่างครอบครัวอุปการะที่พิสูจน์ให้เห็นว่าครอบครัวทดแทนที่รับเด็กกำพร้ามาเลี้ยงดูสามารถดูแล อบรมบ่มเพาะให้เด็กกำพร้าที่ขาดผู้ปกครองแท้ได้มีโอกาสและอนาคตที่ดีได้

โดย ธิดา สำราญใจ โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม