มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เคลื่อนแผนพัฒนา “ทะเลสาบสงขลา” ปกป้องฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล พัฒนาอาชีพชุมชนชาวประมงรอบทะเลสาบสงขลา

เมื่อเร็วๆนี้ คุณจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท พร้อมด้วย คุณบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย คุณกิตติพงศ์ สงนุ้ย หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง พัทลุง-สงขลา คุณศุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ กรรมการมูลนิธิพื้นที่ชุมน้ำทะเลน้อย คุณรมิตา ธุระบุตร์รองนายก สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนสงขลาคุณกัญจนณัฏฐ์ บุญดำ หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์พนางตุง คุณสายันต์ รักดำ ผู้นำกลุ่มทำนาริมเลบ้านปากประ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง คุณพูนทรัพย์ ชูแก้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โหนด นาเล บ้านท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา สถาบันทักษิณคดีศึกษา และคณะทำงานของมูลนิธิฯ ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาอาชีพ ตามดำริ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้แผนงาน “ทะเลสาบสงขลายั่งยืน” เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลสาบสงขลา สู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ณ จ.สงขลา

คุณจอมกิตติ ศิริกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า มูลนิธิฯ มีแผนงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทะเลสาบสงขลายั่งยืน ปี 2566 – 2568 ปกป้องและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา อาชีพประมงพื้นบ้านยั่งยืน และการอนุรักษ์สัตว์ในทะเลสาบ ครอบคลุมทะเลสาบตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง โดยเล็งเห็นความสำคัญของทะเลสาบสงขลา ทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เพราะถือเป็นทะเลสาบแบบลากูนแห่งเดียวของประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นที่อยู่ของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ “โลมาอิรวดี” ซึ่งจัดเป็นสัตว์ทะเลสถานะใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงป่าพรุและป่าชายเลนโดยรอบทะเลสาบ โดยมูลนิธิฯ มีการสนับสนุนการสร้างบ้านปลาเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กและขยายพันธุ์ของปลาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทะเลสาบสงขลายังเป็นทั้งแหล่งอาชีพและแหล่งอาหารที่สำคัญของชุมชนกว่า 4 แสนครัวเรือน มูลนิธิฯ จึงมีแผนสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสาบสงขลา การสร้างอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคตได้

โดยมูลนิธิฯ มีการแลกเปลี่ยนทิศทางการขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง พัทลุง-สงขลา ในการหาแนวทางอนุรักษ์ “โลมาอิรวดี” พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว และสนับสนุนเด็กและเยาวชนลูกหลานชาวประมง สร้าง “มัคคุเทศก์น้อย” ผ่านหลักสูตร Thai Lagoon เพื่อปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา และมีความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตนเอง พร้อมทั้งหารือร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย ในการสนับสนุนการสร้างอาชีพยั่งยืน อาทิ การทำธนาคารกุ้งก้ามกรามเพื่อการเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ การเลี้ยงปลาในกระชังในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา เพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ และได้เข้าพบมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์พื้นที่ทะเลสาบสงขลาตอนบน บริเวณชุมชนปากประ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญของโลก รวมถึงการอนุรักษ์ “ควายน้ำ” ระบบการเลี้ยงควายปลักพื้นที่ทะเลน้อย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังเข้าหารือสถาบันทักษิณคดีศึกษา สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสงขลา ในการร่วมมือด้านการท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารท้องถิ่น และเข้าศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตโหนด นา เล บ้านท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ต่อยอดการยกระดับผลิตภัณฑ์จากตาลโตนด พร้อมช่องทางการจำหน่ายเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด โดยมีเป้าหมายขยายสู่กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise และ การพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำ “นาริมเล” บ้านปากประ ต.ลำปำ อ.เมือง จ.พัทลุง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน