เมื่อเร็วๆนี้
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ร่วมกับ
สำนักงานเกษตรอำเภออมก๋อย เก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทองมินิบอลของกลุ่มเกษตรมูลค่าสูง(ฟักทองมินิบอล) รุ่นที่ 2 ในพื้นที่ของ
“นายสายทอง ใจตา” ซึ่งถือเป็นเกษตรกรต้นแบบ ในโครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีจำนวนมาก มาส่งเสริมปลูกพืชมูลค่าสูงอย่างฟักทองมินิบอล ตลอดห่วงโซ่อุปทาน มุ่งสู่ความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน ณ บ้านทุ่งจำเริง ม.3 ต.อมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
คุณกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เปิดเผยว่า โครงการ “อมก๋อย โมเดล” สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ใหญ่ในด้านฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมูลนิธิฯ เข้าไปขับเคลื่อนในพื้นที่ อ.อมก๋อย โดยมีภารกิจที่สำคัญคือการพัฒนาอาชีพ เพิ่มองค์ความรู้ ขยายโอกาสและทางเลือกให้กับชุมชนในพื้นที่ห่างไกล โดยส่งเสริมการปลูกพืชที่เหมาะสม ลดการใช้สารเคมีในพื้นที่ โดยเฉพาะพืชมูลค่าสูง อาทิ ฟักทองมินิบอล ฟักทองคางคก กาแฟ โดยใช้กลยุทธ์ “ตลาดนำการผลิต” โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ในการเป็นตลาดรองรับผลผลิตที่มีมาตรฐานและคุณภาพ และประกันราคาขายอย่างเหมาะสมและยุติธรรมให้กับเกษตรกร
โดยในครั้งนี้ เป็นการเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทองมินิบอล แปลงต้นแบบรุ่นที่ 2 จำนวน 3,000 ต้น โดยผลผลิตฟักทองมินิบอลทั้งหมดนี้ จะมีบริษัท ซีที เฟรช จำกัด (เจียไต๋ผลสด) รับซื้อในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรรวมกว่า 2 แสนบาท โดยกลุ่มปลูกพืชมูลค่าสูง มูลนิธิฯ ได้ผลักดันมาตรฐานจนได้รับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) คือ การผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุน โดยร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรในการปลูก ดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทองมินิบอล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ผลผลิตฟักทองมินิบอลที่มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย
คุณสายทอง ใจตา สมาชิกกลุ่มปลูกพืชมูลค่าสูง บ้านทุ่งจำเริง ในโครงการอมก๋อยโมเดล สร้างอมก๋อยน่าอยู่คู่ป่าต้นน้ำ กล่าวว่า แต่เดิมในพื้นที่นี้ มีการปลูก ลิ้นจี่ ซึ่งไม่ได้ผลผลิต มีราคาที่ไม่แน่นอน และพืชล้มลุก อาทิ พริก มะเขือเทศ ซึ่งที่ผ่านมาในบางรายมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก เมื่อทราบว่ามีมูลนิธิฯ เข้ามาส่งเสริมในการปลูกฟักทองมินิบอล จึงเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวฯ เพราะอยากมีรายได้เพิ่ม ถือเป็นรายได้เสริม เพราะตนมีอาชีพหลักคือรับจ้างเกี่ยวข้าวไร่ อีกทั้งฟักทองมินิบอล ยังเป็นพืชระยะสั้นได้ผลผลิตเร็ว ได้รายได้เร็ว นอกจากนี้ยังเป็นมิตรต่อธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะสภาวะภูมิอากาศต่างๆที่เกิดขึ้นก็อาศัยทรัพยากรธรรมชาติ และ “ถ้าไม่มีป่า ชุมชนก็อยู่ไม่ได้” ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ทุกวันนี้รู้สึกดีใจที่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ และมาติดตามผลสม่ำเสมอ ขอบคุณมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ที่เข้ามาสนับสนุนปลูกฟักทองมินิบอลให้มีรายได้มากขึ้น มาเสริมให้กับครอบครัว
++++++++++++++++++++
Post Views:
460