โครงการครอบครัวอุปการะฯมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทร่วมอนุรักษ์งานบุญผะเหวด : งานบุญเดือนสี่ของชาวอีสาน ณ บ้านบุโพธิ์ ชุมชนแห่งวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 5-7 มี.ค.2564 ที่ผ่านมาทีมงานโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรมมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบทได้ร่วมงาน “บุญผะเหวด” ซึ่งเป็นงานบุญที่ชุมชนบ้านบุโพธิ์ ตำบลบุโพธิ์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ชุมชนแห่งวัฒนธรรมและจิตอาสา ร่วมกันจัดขึ้นในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี

ซึ่งก่อนวันงานจะเห็นบรรยากาศการเตรียมงาน โดยมีผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชนออกมาช่วยกันจัดสถานที่ ตกแต่งประดับศาลาโรงธรรม จัดเตรียมเครื่องสักการะดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ แปดทิศ มีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวดตามความเชื่อกัน อีกทั้งกลุ่มแม่บ้านของคุ้มต่าง ๆ ร่วมใจกันฝึกซ้อมรำ เพื่อเตรียมแสดง สร้างความสนุกสนานในวันงาน อีกทั้งยังมีกลุ่มจิตศรัทธาต่างพร้อมใจกันจัดตั้งโรงทานในวันงานอีกด้วย

การจัดประเพณีบุญผะเหวดของชุมชนบ้านบุโพธิ์ ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า คนในชุมชนยังมีความรักและความสามัคคีต่อกัน มีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา รักษาและสืบทอดประเพณีที่มีแต่โบราณ เป็นชุมชนวัฒนธรรมที่ผู้คนมีจิตใจที่งดงาม เป็นเหตุผลที่มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้เลือกชุมชนแห่งนี้ดำเนินโครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรมเพื่ออบรม บ่มเพาะ เลี้ยงดูเด็กกำพร้าในโครงการฯได้อยู่กับครอบครัวและชุมชนที่อบอุ่น มีจิตใจงดงามและดูแลเด็กกำพร้าให้เติบโตเป็นคนดี พลเมืองดี ของประเทศชาติต่อไป

ภาคอีสาน เป็นพื้นที่ที่มีเสน่ห์ทางด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะงานประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนเรื่องราวของการดำเนินชีวิตของผู้คน

งานบุณผะเหวด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า งานบุญมหาชาติ เป็นประเพณีที่ชาวอีสานสืบทอดกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาหลายร้อยปี แต่ละหมู่บ้านจะกำหนดวันจัดงานตามความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน งานบุญนี้จะจัดติดต่อกันสามวัน

วันแรก เรียกว่า วันบีบข้าวปุ้น หรือ วันห่อข้าวต้ม ชาวบ้านจะเตรียมจัด ทำอาหารคาวหวาน ไว้ต้อนรับญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท มิตรสหายที่จะมาร่วมงานบุญ และช่วงบ่าย มีการแห่พระอุปคุต เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชา แล้ว นำไปประดิษฐานภายในบริเวณงาน ด้วยความเชื่อว่าเป็นพระเถระ ผู้มีฤทธิ์ นิรมิตกุฏิอยู่กลางแม่น้ำมหาสมุทร ปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชคลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ

วันที่สอง เรียกว่า วันโฮม (วันรวม) จะเป็นวันที่ญาติพี่น้องมาร่วมทำบุญ โดยนำข่าวสารอาหารแห้ง มาร่วมสมทบ และร่วมรับประทานอาหารตลอดทั้งวัน และกำหนดให้เป็นวันแห่ พระเวสสันดรเข้าเมือง

วันที่สาม เรียกว่า วันแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน เริ่มตั้งแต่ เช้ามืด (ตีสี่) ชาวบ้านจะนำข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อน มาทำพิธี เพื่อเอาบูชากัณฑ์เทศน์คาถาพัน เรียกว่า”ข้าวพันก้อน” และชาวบ้านจะพากันแห่ข้าวพันก้อนรอบศาลาวัด

\

โดยธิดา สำราญใจ โครงการครอบครัวอุปการะในชุมชนวัฒนธรรม