มูลนิธิฯ จับมือ ธ.ก.ส. มสธ. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมต่อเนื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาแนวทางร่วมมือจัดทำหลักสูตรและชุดความรู้ สร้างอาชีพเยาวชนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคชนบทไทย

สืบเนื่องจากการประชุมร่วมกัน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ โดยเล็งเห็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเกษตรกร อาทิ เน้นการจัดอบรมให้ความรู้ แต่เกษตรกรไม่สามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้ เน้นรายวิชาแต่ไม่ตอบโจทย์อาชีพ ควรเพิ่มเรื่องเกษตรทันสมัย และเพิ่มเครือข่ายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง ออกแบบโครงการไม่ครบถ้วน ทำอย่างไรให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ ซึ่งจะต้องผนึกพลังจากทุกภาคส่วน ในการดำเนินงานส่วนต่างๆ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมต่อเนื่องในเรื่องของโครงการ หลักสูตรและชุดความรู้ กลุ่มเป้าหมายของโครงการ และเป้าหมายของโครงการที่ต้องการพัฒนาคน

คุณเชษฐา แหล่ป้อง ผู้อำนวยการสำนักสินเชื่อ SME ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แชร์ประสบการณ์การพัฒนาชนบทของ ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่และลูกค้าสำหรับงานด้านการพัฒนาเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ลูกค้าทั่วประเทศ จึงสนับสนุนให้ดูแลกันแบบกลุ่มตามชุมชนต่างๆ รวมทั้งสามารถทำธุรกิจชุมชนของตนเองได้ ผ่าน 3 ขั้น ได้แก่ พึ่งพาตนเอง รวมกลุ่มกันเป็นชุมชน และสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความสมดุล 4มิติได้แก่ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประเพณี ภายใต้หลักการเกื้อกูล แบ่งปันและเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่ชุมชนอุดมสุขให้ชุมชนมีประโยชน์สุขร่วมกันอย่างยั่งยืน

โดยเสนอแนะให้มีการหา “จุดเริ่มต้น” ทั้งนี้ทุกหน่วยงานที่มาหารือต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือพัฒนาบุคคล วิสาหกิจชุมชน ชุมชน ตลอดจนนิติบุคคล ต้องร่วมกันสร้างสังคมที่เกื้อกูลกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงต้องมองข้อมูลตั้งแต่กระบวนการต้นทาง ไปยังปลายทาง เพื่อวางแผนทิศทางโครงสร้างในการดำเนินงาน เป็น Action Research ทำไป ถอดบทเรียนไป

ทางด้าน คุณยุทธนา กาญจนะโกมล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสินเชื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยว่ามีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ธกส.ดูแลกว่า130,000 แห่งในส่วนของวิสาหกิจชุมชน โดยธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนสินเชื่อ และสนับสนุนอาชีพ โดยใช้โมเดล 4 ขั้นตอน ได้แก่ ไปค้นหาวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมในการพัฒนา นำมาสู่กระบวนการพัฒนา เพื่อช่วยหาช่องทางในการพัฒนา และประสานพลเมือง โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์

คุณพรณรงค์ วรศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ในปัจจุบันการเรียนการสอนเปลี่ยนไป โดยใช้ฐานอาชีพเข้าไปสู่ชุมชน มองเห็นแนวโน้มความสำเร็จที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ โดยเอาแนวคิดที่ร่วมกับชุมชน มาพัฒนาเป็นหลักสูตรในโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท (อศ.กช) โดยใช้อาชีพเป็นตัวตั้ง โดยมีกลยุทธ์คือ กลุ่มเกษตรกรคือไข่แดง ส่วนสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ให้เป็นไข่ขาว ซึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้ คำแนะนำ แต่อำนาจตัดสินใจเป็นเกษตรกรทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง

นอกจากนี้โครงการของ ธ.ก.ส. ก็อาจจะมีส่วนเชื่อมโยงกันในกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นข้อดีของการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ สามารถช่วยกันทำงานในบทบาทหน้าที่ต่างกัน ให้บรรลุตามเป้าหมายได้

ซึ่งสอดคล้องการดำเนินงานของสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน โดย ผศ.จำนงค์ แรกพินิจ อธิการบดีสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนมีงานต่อเนื่องจากของสถาบันอาชีวศึกษา แต่เป็นระดับอุดมศึกษา ซึ่งหลักการคล้ายคลึงกัน แต่มุ่งเน้นให้นักศึกษาส่วนใหญ่จะพัฒนาตนเองออกไปเป็นผู้ประกอบการ แต่ต้องมีกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ในส่วนหลักสูตรยังต้องปรับปรุงต่อเนื่อง มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน เครือข่ายมหาวิทยาลัยชีวิต เพื่อมาเสริมกระบวนการพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งยังมีแผนสร้างวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับนักศึกษาที่ขาดแคลน กำลังทรัพย์ ซึ่งสังเกตว่าสอดคล้องกันระหว่างภาคีในเวทีการประชุมครั้งนี้

ดังนั้น ทุกหน่วยงานมี “คน” เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีการดำเนินงานคล้ายหรือซ้อนทับกัน ธ.ก.ส. ทำเรื่องผู้ประกอบการ สถาบันอาชีวะ ทำเรื่องอาชีพ มูลนิธิฯ ทำเรื่องฝึกอบรมอาชีพ ของกรมส่งเสริมการเกษตร ก็มีทั้งวิสาหกิจชุมชนและ Smart Farmer ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือ สร้างคนเหล่านี้ให้เป็นพลเมืองที่ดี

ทางด้าน รศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และผอ.ภาณี บุณยเกื้อกูล ที่ปรึกษากรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความคิดเห็นว่า จากที่ได้หารือกันครั้งนี้ ถ้าเราจะสร้างคนดี มีอาชีพที่ดี เป็นพลเมืองดี ซึ่งมีความสอดคล้องกับทุกหน่วยงานในที่นี้ ที่ต้องเอื้อต่อชุมชนและสังคม อาจแบ่งเป็นกลุ่มๆ อาทิ กลุ่มปัจเจกบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มตัวชุมชนเอง กลุ่มที่ต้องปรับปรุง กลุ่มยกระดับเป็นผู้ประกอบการ และกลุ่มการสร้างสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องทำความเข้าใจร่วมกัน ก่อนนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ให้เหมาะสมแต่ละกลุ่ม ซึ่งจะไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ แต่เรียนเพื่อพัฒนาให้อยู่รอดได้ ที่สำคัญต้องดูว่ามีความพร้อมในการพัฒนาในแต่ละระดับ ทั้งในด้านการบริหารจัดการ หรือการพัฒนาตัวบุคคล

นอกจากนี้ในการดำเนินโครงการ จะต้องวางแนวทางในการพัฒนาและออกแบบโครงการร่วมกัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีความถนัด ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงต้องหากลไกร่วมกัน เพื่อลงรายละเอียดเชิงลึกในการทำงานร่วมกันของแต่ละหน่วยงาน สำหรับเรื่องข้อมูลต้นแบบ ซึ่งมีจำนวนมากจากหลายที่ ต้องมีทีมจัดการข้อมูลให้ไปในทิศทางเดียวกัน มีเรื่องการขยับเป้าหมายร่วมกัน นอกจากนี้ในภาคียังสามารถต่อยอดงานต่างๆร่วมกันได้อีกเป็นจำนวนมาก และเรื่องกระบวนการพัฒนาร่วมกันในบางเรื่อง เพื่อเสริมกำลังกัน ซึ่งต้องหารือกันต่อไป อาจจะต้องค่อยๆเริ่มบูรณาการณ์ เริ่มทดลอง เพื่อออกแบบและพัฒนาต่อไป

คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับเวทีการประชุมภาคีในครั้งนี้ จะเป็นการแชร์ความรู้ประสบการณ์ เรียนรู้การทำงานของแต่ละหน่วยงาน เพื่อหาทางผนึกกำลังร่วมมือกัน อาทิ โครงการของ ธ.ก.ส. ที่มีข้อมูลของวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้วสามารถร่วมมือกับเครือซีพีได้ โดยมุ่งเป้าไปที่ผลผลิต ที่สามารถมาเชื่อมโยงด้านการตลาดของเครือซีพี อาทิ โลตัส แม็คโคร เป็นต้น

โดยหลังจากนี้ มูลนิธิฯ จะเข้าหารือแต่ละหน่วยงานในเชิงรายละเอียด เพื่อเริ่มต้นดำเนินจัดแผนโครงสร้างของโครงการ และกระบวนการทำงานร่วมกันต่อไป

###

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น