มูลนิธิฯ เปิดต้นแบบความสำเร็จ “โรงเรียนบ้านแสนสุข” ในโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน

โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีผลผลิตไข่ไก่ให้เด็กๆ บริโภคตลอดช่วงเวลาเปิดเทอม นอกจากนี้ยังต้องการให้เกิดการพัฒนาระบบบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้แต่ละโรงเรียนสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ รวม 880 แห่ง ทั่วประเทศ

โรงเรียนบ้านแสนสุข เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถผลิตไข่ให้น้องๆได้มีรับประทานทุกวัน และยังสามารถบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังนำองค์ความรู้ในการจัดการไปขยายต่อยอดเลี้ยงสัตว์อื่นๆ หรือปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อให้มีองค์ประกอบของวัตถุดิบในการทำอาหารครบ 5 หมู่ ให้กับเด็กๆ

คุณบรรจรงค์ วรเศรษฐสุขศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแสนสุข กล่าวว่า หลังจากที่โรงเรียนบ้านแสนสุข มาเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ทำให้เข้ามาช่วยเติมเต็มในหลายด้าน ในด้านสุขภาพอนามัยเด็กนักเรียน ก็ได้รับสารอาหารครบถ้วน มีไข่ไก่สดให้บริโภคทุกวัน ในด้านของชุมชน ก็ได้บริโภคไข่สดในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด และในด้านของโรงเรียนเอง ก็มีกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆได้เรียนรู้ ได้ศึกษาและฝึกปฏิบัติจริงในการเลี้ยงไก่ไข่

นอกจากนี้โรงเรียนยังได้ขยายผลไปปลูกข้าว พืชผักสวนครัว และเลี้ยงปลา ที่สามารถเพิ่มพูนทักษะวิชาชีพ ทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ควบคู่ไปกับโครงการไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โรงเรียนมีประสบการณ์ที่จะทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างครบวงจร

คุณบรรจรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับผลสำเร็จโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ของโรงเรียนบ้านแสนสุข เราสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ เพราะมาช่วยเติมเต็มหลายๆด้านให้กับโรงเรียน นอกจากนี้ในสภาวะที่ชุมชนและประเทศกำลังเดือดร้อนในช่วงวิกฤติ เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ช่วยเหลือเยียวยาชุมชนใกล้เคียง และชุมชนอื่นๆ โดยโรงเรียนเรามีวัตถุดิบครบ ทั้งข้าว ผัก ปลา และไข่ ที่ได้ผลิตเอง นำมาจัดสรรปันส่วน โดยส่วนหนึ่งแบ่งจำหน่ายในราคาย่อมเยา และอีกส่วนหนึ่งนำมาทำเป็นอาหารเพื่อแจกจ่ายให้คนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้วันเว้นวัน เนื่องจากวัตถุดิบมีจำกัด

โดยเร็วๆ นี้ โรงเรียนบ้านแสนสุขจะขยายจำนวนเลี้ยงไก่ไข่ จาก 100 ตัว เป็น 150 – 200 ตัว เพื่อเพิ่มกำลังผลิต ไปช่วยเหลือชุมชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติที่ทุกคนกำลังเดือดร้อน โดยที่ได้รับความอนุเคราะห์จากมูลนิธิฯ ช่วยประสานหากรงตับมือสอง เพื่อให้โรงเรียนนำมาใช้ต่อ โดยปัจจุบัน โรงเรียนได้ร่วมโครงการฯ เป็นปีที่ 4 ก็มีแผนจะเติบโตไปเรื่อยๆ และดีขึ้นไปเรื่อยๆ โดยจะผลักดันโครงการให้เป็นหลักสำคัญในการเป็นคลังเสบียงของชุมชนในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย คุณบรรจรงค์ กล่าวปิดท้าย

###

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น