มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตบท สนับสนุน ศธ.ผนึก กสศ. เดินหน้าคัดกรอง-ช่วยเหลือ นร.ยากจน ซึ่งสอดคล้องกับโครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ หวังช่วยนักเรียน รร.ตชด.ในชนบท ให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การวิจัยคุณภาพครู และสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดยร่วมมือร่วมหว่าง ศธ. และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

โดยขับเคลื่อนการศึกษา 3 ด้าน คือ 1.สนับสนุนนวัตกรรมการคัดกรองความยากจน การจัดสรรงบประมาณแบบมีเงื่อนไข เพื่อลดความเหลื่อล้ำทางการศึกษา และให้การช่วยเหลือนักเรียนยากจน 2.ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนยากจน นักเรียนพิการ และด้อยโอกาสให้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นตามศักยภาพ และ 3.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือ ส่งเสริมนักเรียนยากจน พิการ และด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานและพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน และประสิทธิภาพครูของโรงเรียนในสังกัด ศธ.

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เล็งเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นประโยชน์ อีกทั้งสอดคล้องกับแนวคิดและเป้าหมายการดำเนินงานภายใต้โครงการนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าช่วยเหลือเยาวชนทีขาดโอกาสในการศึกษาหรืออยู่ในถิ่นทุรกันดารให้มีชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้น

โดยคัดเลือกนักเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีฐานะยากจนแต่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีพอทีจะสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นได้ตามระดับสติปัญญาและความสามารถให้เป็น “นักเรียนในพระราชานุเคราะห์” และมูลนิธิฯ จะสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ เข้าเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยพักค้างประจำ ณ ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

นอกจากนี้ นักเรียนทุนฯ ทุกคนจะได้รับการฝึกทักษะ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียน ด้านทักษะชีวิต ด้านทักษะอาชีพ และด้านทักษะความเป็นผู้นำและคุณธรรม โดยเริ่มดำเนินโครงการฯ 2546 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 18 ปี มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 187 คน แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ ตชด.ภาค 1 ( ภาคกลาง ) จำนวน 174 คน และพื้นที่ ตชด.ภาค 2 ( ภาคอีสาน ) จำนวน 13 คน โดยมีผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วจำนวน 87 คน และกลับภูมิลำเนา จำนวน 18 คน

ขอขอบคุณที่มาจาก : https://www.matichon.co.th/education/news_3047161