โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท “18 ปี น้อมนําแนวพระราชดําริสร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างพลเมืองดีชายแดน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประจักษ์ว่า โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารเปิดสอนถึงเพียงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และไม่มีโรงเรียนที่เปิดสอนต่อเนื่องในระดับที่สูงขึ้นอยู่ในท้องถิ่น เมื่อประกอบกับนักเรียนมีฐานะทางบ้านยากจน หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้ว เด็กส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสศึกษาต่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีฐานะยากจน ความประพฤติดี มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีพอที่จะสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นได้ ให้เป็น “นักเรียนในพระราชานุเคราะห์” ซึ่งต้องผ่านการคัดเลือกตามลำดับขั้นที่กำหนด โดยจะพระราชทานค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นในระหว่างการเรียนไปจนกว่านักเรียนเหล่านี้จะสำเร็จการศึกษาตามความสามารถและความเหมาะสม เพื่อให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ สำหรับการประกอบอาชีพและนำกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองต่อไป ซึ่งได้ทรงรับเด็กนักเรียนในพระราชานุเคราะห์มาตั้งแต่ปี 2531 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้น้อมนำแนวทางของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารให้มีโอกาสและมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้าน โภชนาการ สุขภาพอนามัย การศึกษา การงานอาชีพ ความเป็นอยู่ และสภาพแวดล้อม มาดำเนินการในรูปแบบ “โครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์” โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2546 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 18 ปี เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียนศิษย์เก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาทัดเทียมเยาวชนในเมือง เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนในฐานะเป็นพลเมืองดีชายแดน

ด้วยเป้าหมายของมูลนิธิคือการสร้าง คนดี พลเมืองดี อาชีพดี มูลนิธิฯ จึงทำงานร่วมกับหน่วยงานร่วมเจตนารมณ์อาทิ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 จังหวัดเลย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่นักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

มูลนิธิฯ จะร่วมกับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 คัดเลือกนักเรียนชายที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ภาคกลาง เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ณ โรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยนักเรียนมีที่พักค้างอยู่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตรของมูลนิธิฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งนักเรียนทุกคนจะได้รับการฝึกทักษะ 4 ด้านคือ ทักษะวิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะความเป็นผู้นำควบคู่คุณธรรม เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับแล้ว นักเรียนสามารถเลือกเรียนต่อในสายสามัญหรือสายอาชีพได้ตามความถนัดและความสนใจ

ต่อมาในปี 2556 ได้ขยายผลโครงการไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยร่วมกับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 คัดเลือกนักเรียนทั้งชายและหญิงที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ เข้าพักค้างและเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 52 จังหวัดเลย และ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 จังหวัดสกลนคร

สิบตำรวจโท กรวิชย์ เข็มกลัด ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า แต่ก่อนผมเรียนอนู่โรงเรียนได้รับโอกาสเข้าเป็นนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ได้สนับสนุนทุนและค่าใช้จ่ายในการศึกษาให้กับนักเรียนทุนฯ ในโครงการจำนวนปีละ 10 คน ซึ่งตนเองได้รับคัดเลือกจากผลการเรียนที่อยู่ในระดับดี และพักอยู่ที่ศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

“…สำหรับการเข้ามาเป็นนักเรียนทุนฯ ถือเป็นการที่ได้รับโอกาสที่สำคัญ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสนี้ ทำให้ต้องมีความตั้งใจและทำให้ดีที่สุด เพื่อส่งต่อความตั้งใจนี้ให้กับรุ่นน้องรุ่นต่อไป โดยคิดว่า ถ้าเราสามารถทำให้คนอื่นเห็นว่า จากเด็กชายขอบที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีเงิน สามารถประสบความสำเร็จได้ จากการได้รับโอกาสทางการศึกษา ได้มาเรียนในเมือง เรียบจบมามีอาชีพที่มั่นคง ทำให้เราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้น้องๆนักเรียนทุนฯ รุ่นหลังได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แค่สร้างปัจจุบันให้ดี…”

สิบตำรวจโท กรวิชย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การได้รับทุนฯ และเลือกมาอาศัยอยู่ภายในศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร ช่วยในการฝึกฝนและขัดเกลาหลายด้าน อาทิ ด้านการใช้ชีวิต การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น การมีวินัย การทำเกษตร ฯลฯ ซึ่งทำให้ขัดเกลาให้กลายเป็นคนมีระเบียบวินัยในตนเอง มีความรู้ในด้านอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเวลา 6 ปีที่อยู่ภายในศูนย์ฯ จากเด็กที่มาจากชายขอบและได้มีโอกาสศึกษาต่อในโรงเรียนเมือง และได้รับการอบรมขัดเกลาให้สามารถเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดี จนปัจจุบัน สามารถนำมาเป็นแนวทางในการทำงานและการใช้ชีวิต และมีโอกาสได้กลับมาเป็นครูสอน พร้อมทั้งดูแลน้องๆรุ่นหลังภายในศูนย์ฯ เพื่อตั้งใจเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

ตลอดระยะเวลา 18 ปีที่มูลนิธิฯ ดำเนินโครงการสนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนในพระราชานุเคราะห์ มีนักเรียนจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ห่างไกลได้รับทุนสนับสนุนการเรียนต่อทั้งสิ้น 203 คน โดยเป็นนักเรียนในพื้นที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จำนวน 184 คน และพื้นที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 จำนวน 19 คน โดยกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นต่าง ๆ ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 81 คน ขอสละทุนกลับไปเรียนต่อในสถานศึกษาใกล้ภูมิลำเนา 25 คน นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาแล้ว 97 คน ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี 23 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปวช. ปวส. จำนวน 29 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 45 คน

ทั้งนี้ นักเรียนทุนได้กลับไปสร้างงานสร้างอาชีพในครัวเรือน เป็นระบบเศรษฐกิจในชุมชน และสามารสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง ขยายไปสู่การสร้างวิสาหกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนโรบัสต้าป่าช้างขาว บ้านป่าหมาก ตำบลศาลาลัย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

###