ทีมงานมูลนิธิฯ ประชุมติดตามการเตรียมแผนปรับปรุงพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร ห้วยทรายให้เป็นไปตามมติกรรมการมูลนิธิฯ

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงานมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ประชุมทีมงานเพื่อติดตามความคืบหน้าของแผนปรับปรุงพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพเยาวชนเกษตร ห้วยทราย ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีหลากหลายประเด็นที่ครอบคลุมการดำเนินงานปรับปรุงศูนย์ฯ ได้แก่ เรื่องของหลักสูตร โครงสร้างภูมิทัศน์ใหม่ของศูนย์ฝึกฯ ระบบ IOT ที่จะมารองรับให้มีความทันสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่างๆในศูนย์ฝึกฯ งานจัดการปลูกป่าและพัฒนาระบบนิเวศภายในศูนย์ฯ เรื่องของระบบน้ำและธนาคารน้ำใต้ดิน รวมทั้งพื้นที่การฝึกอบรมนักเรียนทุนในพระราชานุเคราะห์และกลุ่มคนที่จะเข้ามารับการฝึกอบรม

สำหรับเรื่องหลักสูตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในเครือฯและภายนอกเครือฯถึงกลุ่มเป้าหมาย แนวทางการจัดทำโปรแกรมการฝึกอบรม กระบวนการฝึกอบรมโดยมีกรอบ การจัดทำหลักสูตร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาสในชนบท ในการเสริมสร้างทักษะด้านการจัดการอาชีพ หรือการเป็นผู้ประกอบการผ่านกระบวนการฝึกปฏิบัติจริง เพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคตได้

ซึ่งหลักสูตรต่างๆ ได้ร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) บริษัทในเครือ และบริษัทหรือหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.หลักสูตรการปรับเปลี่ยน Mindset เป็นหลักสูตรพื้นฐานในการในการปรับวิธีคิด เป้าหมายชีวิตสร้างคนดี พลเมืองดี สังคมดี มีจิตสาธารณะ 2.หลักสูตร Knowledge Set เป็นชุดความรู้ในการเตรียมความพร้อมบุคลากรในมิติต่างๆ เพื่อสามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่มาฝึกอาชีพ อาทิ หลักสูตร Training of Trainer การบริหารจัดการฟาร์ม หลักสูตรด้านไอที หรือ IOT และ 3.หลักสูตรSkill Set หลักสูตรสร้างทักษะ ความสนใจเฉพาะด้านของผู้อบรม อาทิ กลุ่มหลักสูตรอบรมวิชาของแผ่นดิน การพัฒนาผู้ประกอบการ บริการระบบงานเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องกลุ่มงานก่อสร้างและภูมิทัศน์ สำหรับแผนปรับภูมิทัศน์อาคารต่างๆ ที่จะประกอบไปด้วยระบบการทำฟาร์มเมล่อน ของบริษัท เจียไต๋ จำกัด พื้นที่ป่าและระบบนิเวศน์ โดยอาคารเฉลิมพระเกียรติจะใช้เป็นห้องเรียน พร้อมทั้งมีห้องอเนกประสงค์ ที่สามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ จัดอบรม จัดประชุม และจัดสัมมนา รวมทั้งเป็นอาคารที่จะแสดงผลงาน เพื่อให้เป็นพื้นที่เยี่ยมชมได้

สำหรับระบบ IOT ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จํากัด ช่วยวางแผนวางระบบครอบคลุมตั้งแต่การรับสมัคร การฝึกอบรม ตลอดจนติดตามผล ให้เหมาะสมกับฟังก์ชันในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 1. ด้านกายภาพ (Hardware) อาทิ อาคารต่างๆ สถานที่ฝึกอาชีพ บ่อน้ำเพื่อการเกษตร 2. ด้านการฝึกอาชีพ (Software) อาทิ ระบบลงทะเบียน ระบบติดตามผล 3. ด้านการเตรียมคน (Peopleware) อาทิ ผู้ที่จะประจำห้อง Control ต่างๆ เจ้าหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ IOT แต่ละจุด ช่างเทคนิคในการซ่อมบำรุง 4. ด้านการใช้งานพื้นที่ส่วนกลาง อาทิ ระบบสาธารณูปโภค ระบบรักษาความปลอดภัย 5. ระบบ Infrastructure, Support and Service ซึ่งเมื่อแปลนพื้นที่สำเร็จเสร็จสิ้น ทรูดิจิทัลก็จะสามารถนำมาใช้วางระบบทั้งหมดได้

ในเรื่องของระบบนิเวศภายในศูนย์ฯ ขณะนี้อยู่ในระหว่างหารือ เมื่อได้รายชื่อพันธุ์พืชภายในศูนย์ ระดับพื้นดินลาดเอียงในศูนย์ และศึกษาข้อมูลของพันธุ์ไม้ต่างๆ เพื่อวางแผนจัดการพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม โดยจะต้องสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งป่าไม้ สัตว์ชนิดต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำคลองชลประทาน นอกจากนี้พบว่า ต้องร่วมมือกับชุมชน โดยศูนย์ฯเป็นแกนกลาง ทำความเข้าใจกับชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ และขอรับการสนับสนุนนักวิชาการด้านการปลูกป่าจากสถาบันการศึกษา หรือหน่วยราชการ ที่จะต้องประสานงานต่อไป

ทั้งนี้ ทีมงานมูลนิธิฯจะมีการประชุมเตรียมการด้านต่างๆเพื่อนำมารวมเป็นแผนปรับปรุง พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมอาชีพเยาวชนเกษตรเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการมูลนิธิฯพิจารณาอนุมัติต่อไปภายในเดือนตุลาคม นี้

###